ม.ธรรมศาสตร์ เปิดศูนย์สอบ GED เทียบวุฒิระบบอเมริกัน เล็งเพิ่ม นศ. ต่างชาติเท่าตัว
ม.ธรรมศาสตร์ จับมือองค์กรจัดสอบนานาชาติ ตั้งศูนย์สอบ GED ในศูนย์รังสิต เปิดโอกาสนักเรียนไทย-ต่างชาติ เทียบวุฒิ ม.6 ตั้งเป้าดึงดูดนักเรียนต่างชาติมาเรียนที่ มธ. เพิ่มเท่าตัว
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ได้ทำพิธีลงนามความร่วมมือกับบริษัท Pearson VUE ผู้ดำเนินมาตรฐานการจัดสอบระดับนานาชาติ เช่น GMAT, GED และ Thammasat Competency Test Center (TCTC) ไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดศูนย์สอบ “GED Testing Center” โดยตั้งอยู่ที่อาคารวิศิษฎ์อักษร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความสนใจสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเข้ารับการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้เกณฑ์การสอบ GED ซึ่งเป็นการสอบเทียบวุฒิในระบบอเมริกันอันเป็นที่ยอมรับในทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการแก้ปัญหานักเรียนต่างประเทศที่ไม่สามารถเทียบวุฒิการศึกษาจากประเทศของตน กับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของไทยได้ เช่น พม่า ซึ่งนักเรียนสามารถใช้คะแนน GED เป็นหลักฐานในการสมัคร แทงมวยพักยก เข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้
รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า หากดูข้อมูลย้อนหลังจะพบความท้าทายประการหนึ่ง คือมีนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากหลายประเทศวุฒิไม่เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 ของประเทศไทย จึงขาดโอกาสที่จะเข้ามาศึกษาต่อในไทย
ดังนั้น การเปิดศูนย์สอบ GED ในครั้งนี้ จึงเป็นทางออกที่จะเข้ามาช่วยพลิกโฉมให้กับทั้งนักเรียนไทยและต่างชาติ ที่ต้องการสอบเพื่อนำวุฒิไปเทียบเข้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่นักเรียนไทยเองที่อาจอยู่ระดับชั้น ม.4-5 แต่รู้สึกว่ามีความรู้ที่พร้อมจะเทียบ ม.6 ก็สามารถสอบ GED นี้แล้วข้ามไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ทันที
“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังขยายโอกาสทางการศึกษาให้กว้างขึ้นในทุก ๆ มิติ เพื่อนำโอกาสไปสู่นักศึกษาที่อยู่ในภูมิภาคและพื้นที่อื่นทั่วโลก นอกจากนั้น ต้องการก้าวสู่มหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ เพราะการเพิ่มความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยจะส่งผลดีต่อทั้งคณาจารย์และนักศึกษา ให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เกิด soft skills ด้านการสื่อสาร ความยืดหยุ่น การปรับตัว ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ทุกที่”
ความเป็นนานาชาติเกิดขึ้นได้จากทั้งการร่วมมือในระดับนานาชาติ ออกไปร่วมแลกเปลี่ยนหรือศึกษาต่อต่างประเทศ ผ่านโครงการและความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำต่าง ๆ และการนำความเป็นนานาชาติเข้ามาอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่ง GED Testing Center จะเป็นหนึ่งในกลไกที่เข้ามาช่วยผลักดันในส่วนนี้
รศ.ดร.สุรัตน์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักศึกษาชาวต่างชาติประมาณ 600 คน และเชื่อว่าศูนย์สอบนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นได้เป็น 1,500 คน ภายใน 3-4 ปี ซึ่งนอกจากการจัดสอบ GED แล้ว ยังอาจมีความร่วมมือการจัดสอบมาตรฐานอื่น ๆ เช่น GMAT ที่ใช้ประกอบการศึกษาต่อในหลักสูตรบริหารธุรกิจได้ทั่วโลกตามมาด้วยในอนาคต
นาย CT เฮมิงเวย์-เทอร์เนอร์ (Hemingway-Turner) รองประธานฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลกและกิจการภาครัฐ GED Testing Service กล่าวว่า มาตรฐาน GED ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก รวมทั้งมหาวิทยาลัยท็อป 3 ของสหรัฐอเมริกา อย่างสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือแม้แต่มาตรฐานการสอบอื่น ๆ ภายใต้บริษัท Pearson VUE ซึ่งเป็นบริษัทผู้ดำเนินการเกี่ยวกับศูนย์สอบที่ใหญ่ที่สุดในโลก
“หนึ่งในข้อดีของการสอบ GED คือความยืดหยุ่นที่สูง ตอบสนองผู้สอบได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเวลาสอบที่ยืดหยุ่น สามารถนัดวันและเวลาที่ผู้สอบสะดวกเองได้ ขณะเดียวกันภายหลังการสอบก็ยังสามารถรู้ผลได้ทันทีภายในวันเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาออกผลภายในไม่เกิน 10 ชั่วโมง ทำให้ผู้สอบสามารถวางแผนอนาคตของตัวเองได้ต่อไป โดยการสอบ GED มีส่วนช่วยให้นักเรียนนักศึกษาทั่วโลกกว่า 21 ล้านคนสามารถเข้ารับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น”
ด้านนายทวีศักดิ์ จ้าวชวนชม ผู้อำนวยการนานาชาติ GED กล่าวว่า การมีศูนย์สอบ GED ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่ได้เป็นเพียงการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาให้ได้รับประสบการณ์ทางการศึกษาในสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น แต่โอกาสนี้ยังเปิดให้กับนักเรียนทุกคนที่สนใจจะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพราะมาตรฐาน GED นั้นสามารถนำไปใช้ยื่นได้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก
“การที่เรามีเพื่อนจากต่างประเทศในการเรียนมหาวิทยาลัย จะช่วยให้เราได้เปิดกว้าง สามารถเรียนรู้ในหลายสิ่งที่นอกเหนือจากตำรา เปิดมุมมองได้รับสิ่งใหม่ ๆ ทั้งในเรื่องเรียน ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ เพิ่มโอกาสเข้าถึงการทำงานในบริษัทระดับนานาชาติต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดผลดีนี้จะไม่ได้สะท้อนกลับมาเพียงตัวของคน ๆ นั้น แต่การทำงานเหล่านี้ย่อมส่งผลดีกลับมาให้กับประเทศของเราได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม” นายทวีศักดิ์กล่าว